สอศ.จับมือ 5 สภาฯทำข้อตกลงจัดการเรียนการสอนทวิภาคีผลิตกำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง

เมื่อวันนี้ 19 ธันวาคม 2565 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา และเห็นว่าการพัฒนาอาชีวศึกษาให้ก้าวไกลเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ เพราะกำลังคนอาชีวศึกษาถือได้ว่ามีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิต ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจบริการ ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนั้นอาชีวศึกษาจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องมีการพัฒนาครู พัฒนาผู้เรียน พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย ตอบโจทย์กับภาคธุรกิจ

“การบูรณาการความร่วมมือจากภาคเอกชน ในฐานะองค์กรวิชาชีพ มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นผู้นำในภาคเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ศธ.ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ 5 องค์กรเอกชนของ สอศ.ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้ง 6 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นความสำคัญในการเข้ามาร่วมมีบทบาท เพื่อการพลิกเปลี่ยนและยกระดับความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านอาชีวะในการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐาน และเชื่อมโยงการทำงานในการวางแนวทางการพัฒนาคนอาชีวะอย่างเป็นระบบที่แข็งแรง เข้มข้น และครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้การผลิตบุคลากรได้อย่างมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ และจะเป็นแนวทางสำคัญในขับเคลื่อนระบบการศึกษาทางด้านสายอาชีพ ให้มีการปรับตัว และบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศในเวทีระดับโลก” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว.

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า น.ส.ตรีนุช มีนโยบายในการสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาประเทศไทยให้มีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต รวมทั้งแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความปลอดภัย และมีสมรรถนะ ที่สำคัญจำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความพร้อมร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ขณะที่ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญสอดคล้องกับภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทั้ง 5 สภาซึ่งมีสถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ  เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา โดยจะร่วมกันเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ให้สอดคล้องกับ          ความต้องการของตลาดแรงงาน  โดยสอศ.ได้ตั้งศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี ในสถานศึกษาที่เป็นอาชีวศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ และมอบหมายให้ประสานกับสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภา ทั้ง 5 สภา ได้ร่วมกันดำเนินการต่อไป

นายถาวร ชลัษเฐยร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักเรียนนักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ล้วนแต่เป็นแรงงานทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการที่จะรับเข้าไปสู่แรงงานภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ใช้งาน และมีความต้องการที่จะพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีความยินดีที่วันนี้ สอศ.ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี ที่ให้นักเรียน นักศึกษาได้เข้าฝึกประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ จะช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักเรียนนักศึกษาได้เป็นอย่างดีเมื่อจบการศึกษาและเข้าไปสู่ระบบการทำงานจริง แต่ที่ผ่านมายังขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีการดำเนินการที่ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้น การร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากกับทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะให้มีการประสานงานกันระหว่างสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และวิทยาลัยในสังกัดอาชีวศึกษา ในการร่วมกันยกระดับและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ หรือการร่วมกันพัฒนาครูของอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและทันต่อเทคโนโลยี  ทำให้การยกระดับพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป